May 31 , 2022. โครงการ Australia Watch ศูนย์ออสเตรเลียศึกษา สถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเลือกตั้งระดับสหพันธรัฐหรือการเลือกตั้งของออสเตรเลียเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมา ได้สร้างความสนใจให้แก่ผู้สนใจการเมืองออสเตรเลียอย่างมาก เนื่องจากการคว้าชัยชนะการเลือกตั้งของนายแอนโทนี อัลบาเนซี (Anthony Albanese) จากพรรคแรงงาน (Australian Labor Party) เป็นการยุติการครองอำนาจของรัฐบาลฝั่งพรรคอนุรักษ์นิยมที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 9 ปี บทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจึงอยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับระบบการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลียในระดับชาติที่มีความน่าสนใจและมีความแตกต่างเชิงรายละเอียดจากระบบการเลือกตั้งของประเทศไทย แม้ว่าจะยึดหลักเสียงข้างมากคล้ายคลึงกันก็ตาม โดยเฉพาะการเลือกตั้งในระบบจัดลำดับความชอบ (Preferential voting)
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธ์ (federation) และยึดหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ เสรีนิยม (liberalism) ที่เน้นเรื่องความเป็นปัจเจกบุคคลและประชาธิปไตย (democracy) ที่เน้นย้ำในเรื่องการปกครองโดยประชาชน ดังนั้น การเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวออสเตรเลียเพื่อออกเสียงปกครองประเทศของพวกเขา และออสเตรเลียยังเป็นประเทศที่ถือว่าการไปเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน หากใครไม่ไปเลือกตั้งก็จะมีบทลงโทษ
แต่เดิมการเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลียมีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมและใช้ระบบเสียงข้างมากแบบธรรมดา (Simple Majority) ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้เสียงมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้นก็จะได้รับชัยชนะไปเลยไม่ว่าเสียงที่ได้รับจะเกินกึ่งหนึ่งหรือไม่ อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 1918 นายกรัฐมนตรีวิลเลียม มอริส ฮิวจ์ (William Morris Hughes) จากพรรคชาติยม (Nationalist Party of Australia) ได้ปรับเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง โดยมาใช้ระบบจัดลำดับความชอบ (Preferential voting) เนื่องจากเกรงว่าระบบเลือกตั้งเดิมจะทำให้พรรคฝ่ายซ้ายก้าวขึ้นมามีอำนาจและได้รับผลประโยชน์จากคะแนนเสียงจากกรรมกรชาวนามากเกินไป
ระบบการเลือกตั้งแบบจัดลำดับความชอบเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการเลือกตั้งที่ยึดกับระบบเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด (Majority electoral system) ผู้ชนะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจากทั้งหมด การจัดลำดับความชอบเป็นการเลือกตั้งที่ให้ความสำคัญกับน้ำหนักความพึงพอใจที่ผู้เลือกตั้งมีให้กับผู้สมัครแต่ละคน การเลือกตั้งในรูปแบบนี้ ผู้ลงคะแนนเสียงจะต้องลงคะแนนเรียงลำดับ 1 2 3 4 5 (คะแนน 1 คือ พึงพอใจมากที่สุดเรียงลำดับไป) ให้ผู้สมัครทุกคน ในใบลงคะแนนเสียงจะไม่มีช่องงดออกเสียง ถ้าหากลงคะแนนไม่ครบถ้วนหรือลงคะแนนซ้ำกันจะนับว่าเป็นบัตรเสีย

รูปที่ 2 ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งในเขตแบส รัฐแทสมาเนีย (Bass Tasmania; ที่มา Parliament of Australia, 2007)
การเลือกตั้งรูปแบบนี้ ผู้ชนะการเลือกตั้งจะต้องได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่อย่างเด็ดขาด คือ ได้รับการจัดลำดับความชอบอยู่ในลำดับที่คิดจำนวนเกินครึ่งหนึ่งของผู้ลงคะแนนทั้งหมด หากมีผู้ได้คะแนนเสียงใกล้เคียงกัน 2 คนขึ้นไปแต่ไม่เด็ดขาด คณะกรรมการการเลือกตั้งก็จะนับคะแนนใหม่อีกครั้ง โดยพิจารณาจากบัตรเลือกตั้งของกลุ่มผู้ได้รับคะแนนเสียงน้อยที่สุด และดูลำดับความชอบลำดับที่ 2 ลงไปและโอนคะแนนให้ กับผู้รับสมัครเลือกตั้งที่ได้รับการจัดลำดับความชอบนั้น พรรคขนาดเล็กและขนาดกลางจึงมีส่วนสำคัญมากและมีส่วนสำคัญในการได้คะแนนเสียงของพรรคขนาดใหญ่ไปด้วย เช่น การเลือกตั้งในปี 2007 ในการนับคะแนนรอบแรก พรรคเสรีนิยมได้รับคะแนนเสียงจัดลำดับความชอบลำดับแรกที่ร้อยละ 43.5 พรรคแรงงานได้รับคะแนนเสียงจัดลำดับความชอบลำดับแรกที่ร้อยละ 37.2 ซึ่งทั้ง 2 พรรคไม่ได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง จึงมีการนับคะแนนใหม่อกีครั้ง พิจารณาจากพรรคกรีน ซึ่งได้รับคะแนนเสียงจัดลำดับความชอบลำดับแรกที่ร้อยละ 15.3 โดยดูจากลำดับความชอบในลำดับที่สอง ปรากฎว่า คนที่ลงเสียงให้พรรคกรีนเป็นลำดับแรก ได้ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคแรงงานเป็นลำดับที่สองเป็นจำนวนมากพอที่ส่งผลให้พรรคแรงานได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งและชนะการเลือกตั้งในที่สุด ขณะที่ในการเลือกตั้งในปี 2022 พรรคแรงงานได้รับเลือกตั้งมากถึง 72 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจาก 151 ที่นั่ง พรรคแรงงานจึงชนะการเลือกตั้งหลังการนับคะแนนเพียงรอบเดียว เนื่องจากได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง
การลงเสียงแบบจัดลำดับความชอบนี้ส่งผลให้เกิดความชอบธรรมต่อผู้ชนะการเลือกตั้งอย่างมาก เนื่องจากผู้ชนะจะต้องได้รับเสียงการเลือกตั้งที่เด็ดขาด นอกจากนี้ การจัดลำดับความชอบยังเป็นการกระตุ้นให้พรรคการเมืองจำเป็นต้องนำเสนอนโยบายที่ครอบคลุมสำหรับประชาชนทุกกลุ่มให้มากที่สุด เพื่อโน้นน้าวให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกพรรคของตนเองเป็นลำดับแรก ๆ และยังทำให้ประชาชนเกิดความสนใจและเปรียบเทียบนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ให้ผลประโยชน์กับพวกเขาได้สูงสุด และกระตุ้นให้นักการเมืองก็จำเป็นต้องใส่ใจกับการปฏิบัติตามนโยบายที่ตนสัญญากับประชาชนเอาไว้ด้วย
เอกสารอ้างอิง
Australian Electoral Commission. (28 April 2022). Preferential voting. Retrieved from https://www.aec.gov.au/learn/preferential-voting.htm
Guardian. (29 May 2022). From ‘voter fraud’ to Albanese’s ‘invalid’ swearing in: election claims debunked. Retrieved from https://www.theguardian.com/australia-news/2022/may/30/from-voter-to-albaneses-invalid-swearing-in-election-claims-debunked
_____. (30 May 2022). Labor secures majority government despite record non-major party vote and crossbench. Retrieved from https://www.theguardian.com/australia-news/2022/may/30/labor-secures-majority-government-despite-record-non-major-party-vote-and-crossbench
Parliament of Australia. (21 August 2007). Australian electoral systems. Retrieved from https://www.aph.gov.au/About_Parliament/Parliamentary_Departments/Parliamentary_Library/pubs/rp/RP0708/08rp05#_edn26
พัด ลวางกูร. (2564). การเมืองในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์. กรุงเทพฯ: ศูนย์เอกสารทางวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ และทิพย์ศริน ภัคธนกุล. “ระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของออสเตรเลียและไทย: มุมมองเชิงเปรียบเทียบ.” ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (2012): วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2555. เข้าถึงจาก https://so06.tci-thaijo.org/index.php/kpi_journal/article/view/244389
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. (2561). ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: ศยาม.
เรียบเรียงโดย
นายศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ
นักวิจัยประจำสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์