About us

ประวัติความเป็นมาศูนย์ออสเตรเลียศึกษา (Australian Studies Centre: ASC)

ศูนย์ออสเตรเลียศึกษา (Australian Studies Centre: ASC) ก่อตั้งขึ้นจากบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางการศึกษาและวิจัยระหว่างทบวงมหาวิทยาลัย (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. ในปัจจุบัน) กระทรวงศึกษาธิการ กับ Department of Employment, Education, and Training (Department of Education and Training ในปัจจุบัน) ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. 2534 ความตกลงดังกล่าวเป็นความตกลงเพื่อสร้างศูนย์การศึกษาในลักษณะต่างตอบแทน โดยทางประเทศออสเตรเลียได้จัดตั้งสถาบันไทยศึกษาแห่งชาติ (National Thai Studies Centre) ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University: ANU) ณ กรุงแคนเบอร์รา ขณะที่ไทยได้กำหนดจัดตั้งศูนย์ออสเตรเลียศึกษาขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร และได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์ฯ เมื่อ พ.ศ. 2537 ภายใต้การกำกับดูแลของทบวงมหาวิทยาลัย

ต่อมาใน พ.ศ. 2552 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีนโยบายย้ายศูนย์ออสเตรเลียศึกษาไปยังมหาวิทยาลัยอื่น จึงได้ดำเนินการสรรหามหาวิทยาลัยเจ้าภาพสำหรับเป็นที่ตั้งศูนย์ออสเตรเลียศึกษาแห่งใหม่ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้จัดประชุมชี้แจงการขอเสนอเป็นมหาวิทยาลัยเจ้าภาพ สำหรับเป็นที่ตั้งของศูนย์ออสเตรเลียศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2552 ซึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ได้ส่งข้อเสนอขอเป็นมหาวิทยาลัยเจ้าภาพสำหรับเป็นที่ตั้งของศูนย์ออสเตรเลียศึกษา ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 คณะกรรมการสรรหามหาวิทยาลัยเจ้าภาพสำหรับเป็นที่ตั้งศูนย์ออสเตรเลียศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ประชุมพิจารณาคัดเลือกมหาวิทยาลัยเจ้าภาพ และมีมติเลือกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเจ้าภาพสำหรับเป็นที่ตั้ง ศูนย์ออสเตรเลียศึกษา

ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 มีมติอนุมัติให้จัดตั้งศูนย์ออสเตรเลียศึกษา โดยศูนย์ออสเตรเลียศึกษาเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2553 อย่างไร ก็ตาม เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556 ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมีมติให้มีการปรับโครงสร้างองค์กร โดยให้ ศูนย์ออสเตรเลียศึกษาเข้ามาอยู่ภายใต้สถาบันศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ เมื่อ พ.ศ. 2558 และมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร จึงมีการเปลี่ยนสถาบันศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันอาณาบริเวณศึกษา และรวมเอาศูนย์ออสเตรเลียศึกษาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันฯ

ผู้อำนวยการศูนย์ออสเตรเลียศึกษา (Australian Studies Centre: ASC)
รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย   รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์ออสเตรเลียศึกษา

กิจกรรมต่าง ๆ ของศูนย์ออสเตรเลียศึกษา
1.      ด้านการวิจัย

โครงการศึกษาและสร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะพื้นที่: กรณีศึกษาออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ระยะที่ 1

ศูนย์ออสเตรเลียศึกษา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะพื้นที่ และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับทั้ง 2 ประเทศที่ครอบคลุมในทุกด้าน รวมทั้งวิเคราะห์ประเด็นที่น่าสนใจที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้หรือเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทย และเผยแพร่ความรู้ให้กับสาธารณชนต่อไป โครงการนี้แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยโครงการในระยะที่ 1 เน้นศึกษาประเทศนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศนิวซีแลนด์ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งการปฏิรูปนิวซีแลนด์ถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญสำหรับประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากนิวซีแลนด์มีการปฏิรูปอย่างครบถ้วนในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งนโยบายดังกล่าวผ่านการศึกษาอย่างละเอียด มีการใช้กรอบแนวคิดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์รองรับ มีการวางแผนการดำเนินงานก่อนเริ่มปฏิรูปถึง 3 ปี ทำให้แผนการมีความชัดเจนในทุกด้านและมีความต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การปฏิรูปประเทศนิวซีแลนด์ประสบความสำเร็จจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ผลการศึกษาถูกเผยแพร่ในหลายรูปแบบ อาทิ การจัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณชน การนำเสนอผลงานในการประชุมเฉพาะกลุ่มกับผู้แทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง การประชุมเวที สกว. (TRF Forum)

โครงการศึกษาและสร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะพื้นที่: กรณีศึกษาออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ระยะที่ 2

โครงการในระยะที่ 2 นี้ เป็นโครงการวิจัยร่วมกันระหว่าง
1) ศูนย์ออสเตรเลียศึกษา สถาบันอาณาบริเวณศึกษา
2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3) RMIT University
4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
สำหรับโครงการในระยะที่ 2 นี้ จะศึกษาประเด็นที่น่าสนใจของประเทศออสเตรเลีย โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ ได้แก่
ส่วนที่ 1 การศึกษาเรื่องสังคมพหุวัฒนธรรม การหลอมรวม และการปลูกฝังวัฒนธรรมของออสเตรเลีย
ส่วนที่ 2 การศึกษาระบบการเมืองการปกครอง ระบบการเลือกตั้ง และประชาธิปไตยในออสเตรเลีย รวมถึงระบบการร้องทุกข์ (Petition) ที่ทำให้เกิดการส่งผ่านแนวคิด/นโยบายจากประชาชนสู่ภาครัฐ
ส่วนที่ 3 การศึกษาเกี่ยวกับการปฏิรูปเศรษฐกิจของออสเตรเลีย ซึ่งรวมถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในออสเตรเลีย
ส่วนที่ 4 นั้น เป็นการศึกษาประเด็น/นโยบายอื่น ๆ ของออสเตรเลียที่น่าสนใจ ได้แก่ การพัฒนาธุรกิจขนาดย่อม ขนาดกลาง และธุรกิจครอบครัว (Small and Family Enterprises) ในออสเตรเลีย การจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและสินแร่ของออสเตรเลีย การวิจัย การพัฒนา และระบบนวัตกรรมในออสเตรเลีย และการปฏิรูประบบสุขภาพของออสเตรเลีย

2.      ด้านการบริการวิชาการแก่สังคม

ศูนย์ออสเตรเลียศึกษา สถาบันอาณาบริเวณศึกษา ร่วมกับสถานทูตออสเตรเลีย จัดการบรรยาย เรื่อง “Australian, Thailand and the ASEAN-Australia Special Summit: Paths to Innovation, Security and Prosperity” เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 โดยได้รับเกียรติจาก H.E. Mr. Paul Robilliard เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ร่วมกับท่านสุริยา จินดาวงษ์ อธิบดีกรมอาเซียน เป็นประธานกล่าวเปิดงาน

การบรรยาย เรื่อง “Australian, Thailand and the ASEAN-Australia Special Summit: Paths to Innovation,
Security and Prosperity”
3.      วิเทศสัมพันธ์ และการขยายเครือข่ายความร่วมมือ
3.1    การเข้าเยี่ยมชมสถาบันอาณาบริเวณศึกษา และเข้าพบผู้อำนวยการสถาบันฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและปรึกษาหารือในการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน

Mr. Brendan Cunningham, Executive Director of Australian Chamber of Commerce เยี่ยมชมสถาบันอาณาบริเวณศึกษา เพื่อหารือถึงการจัดกิจกรรมร่วมกันกับศูนย์ออสเตรเลียศึกษา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 ณ สถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

Mr. Brendan Cunningham เยี่ยมชมสถาบันอาณาบริเวณศึกษา และหารือการจัดกิจกรรมร่วมกันกับศูนย์ออสเตรเลียศึกษา

ศูนย์ออสเตรเลียศึกษา สถาบันอาณาบริเวณศึกษา ให้การต้อนรับ Prof. Hon Gareth Evans อธิการบดีของ Australian National University ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลีย และ Dr.Su-Ann Tan, Director of ANU Southeast Asia Liaison Office in Singapore เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อเจรจาขยายความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง ANU กับสถาบันฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการทำงานวิจัยร่วมกัน การเป็นเครือข่ายทางวิชาการ และความร่วมมือระหว่างกัน ในเรื่อง Australian Studies กับ Australian Studies Institute, ANU ซึ่งเป็นสถาบันที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นและจะเป็นศูนย์กลางของ Austrlian Studies ในประเทศออสเตรเลีย

ศูนย์ออสเตรเลียศึกษา ให้การต้อนรับ Prof. Hon Gareth Evans และ Dr.Su-Ann Tan
3.2    การเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเข้าร่วมประชุมและสร้างเครือข่ายทางวิชาการ

วันที่ 20 มิถุนายน 2561 รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา ได้รับเชิญจาก Coral Bell School of Asia Pacific Affairs, Australian National University, Canberra ประเทศออสเตรเลีย ไปบรรยายการสัมมนาในหัวข้อ “Political Economy of Thailand’s Free Trade Negotiations”

รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย เข้าร่วมการสัมมนาในหัวข้อ “Political Economy of Thailand’s Free Trade Negotiations” ณ Australian National University ประเทศออสเตรเลีย
3.3    ด้านบริการวิชาการ

Prof. William Tow, Australian National University มาเป็นผู้บรรยายพิเศษให้กับนักศึกษาหลักสูตร MAPS ในช่วงเดือนมีนาคม 2561

Prof. William Tow, ผู้บรรยายพิเศษให้กับนักศึกษาหลักสูตร MAPS