รายงานชี้ ประเทศในแปซิฟิกเสี่ยงเข้าสู่ ‘ทศวรรษที่สูญหาย’ หลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจหดตัวครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี จากพิษวิกฤตโควิด

29.09.2021 โดย ณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ

วันนี้ (29 กันยายน) จากรายงานล่าสุดของ Lowy Institute สถาบันของกลุ่ม Think Tank ที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย ระบุว่า ประเทศในแปซิฟิกเสี่ยงเข้าสู่ช่วง ‘ทศวรรษที่สูญหาย’ (Lost Decade) หลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจหดตัวครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี อันมีสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากพิษวิกฤตโควิด 

Lowy Institute ระบุว่า ในปี 2019 มีเงินบริจาคและเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศส่งมอบให้กับบรรดาประเทศในแปซิฟิกสูงถึง 2.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.26 หมื่นล้านบาท) หรือคิดเป็นราว 8% ของ GDP ภูมิภาคนี้ ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้า 15% และมีเพียงราว 11% ของ 2.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ใช้สนับสนุนงานด้านสาธารณสุข

ที่ผ่านมารัฐบาลออสเตรเลียพยายามพิจารณาและจัดสรรงบช่วยเหลือประเทศในแถบนี้มากยิ่งขึ้น หลังหวั่นอิทธิพลของจีนที่จะใช้ Soft Diplomacy ที่มักจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loan) ผ่านโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และอิทธิพลของออสเตรเลียที่มีประเทศต่างๆ ในแปซิฟิกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทางการจีนปรับลดงบประมาณช่วยเหลือลงจาก 246 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.3 พันล้านบาท) ในปี 2018 ถึง 31% และส่งมอบงบช่วยเหลือ 169 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.7 พันล้านบาท) ในปี 2019 ที่ผ่านมา โดย 67% ของความช่วยเหลือจากทางการจีนในปีนี้อยู่ในรูปแบบของเงินกู้ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจาก 41% จากปีก่อนหน้า และในปี 2020 ก็ไม่ได้มีสัญญาณบ่งชี้ว่าจีนจะเพิ่มงบช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศในแถบนี้แต่อย่างใด ขณะที่งบช่วยเหลือจากออสเตรเลียเองก็มีแนวโน้มลดลง

รายงานล่าสุดจาก Lowy Institute คาดการณ์ว่าจะต้องใช้งบเพิ่ม 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.18 แสนล้านบาท) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและประเทศต่างๆ ในแปซิฟิกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด ในช่วงเวลาที่ประเทศต่างๆ ตัดทอนงบช่วยเหลือลง 

ในช่วงปี 2009-2019 ออสเตรเลียส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่บรรดาประเทศในแปซิฟิก คิดเป็น 42% ของความช่วยเหลือทั้งหมด โดยมีการตัดงบด้านสาธารณสุขไปสนับสนุนโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทางการออสเตรเลียจึงจัดสรรงบช่วยเหลือชั่วคราวราว 220.67 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.4 พันล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือประเทศในแปซิฟิก และติมอร์-เลสเต ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงภายในภูมิภาค

โดยออสเตรเลียยังได้รับแรงกดดันจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในแปซิฟิก เกี่ยวกับประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการสร้างหลักประกันว่า ความสัมพันธ์ไตรภาคีด้านความมั่นคงอย่าง AUKUS ที่รัฐบาลออสเตรเลียได้จับมือกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาจะไม่ทำให้ภูมิภาคนี้ตึงเครียดมากยิ่งขึ้นในอนาคต

Cr. THESTANDARD